29 ส.ค.63 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เตรียมขึ้นกทม.ยื่นหนังสือติดตามข้อเสนอเพื่อการประมงยั่งยืน 14 ข้อ ระบุว่า ชาวประมงพื้นบ้านจะไม่เลิกประกอบอาชีพทำการประมงที่รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศ และเชื่อว่าหากชาวประมงทุกฝ่ายทำการประมงอย่างรับผิดชอบ จะยิ่งทำให้ชาวประมงและคนไทยได้รับประโยชน์ จากทรัพยากรอาหารทะเลไทยได้อย่างยั่งยืนเป็นธรรมได้ แต่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาชาวประมงพื้นบ้าน และการประมงลักษณะไม่ยั่งยืน ดังนี้
1. รัฐบาลต้องหยุดยั้งการประมงที่ทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยการกำหนด ชนิด ขนาด และสัดส่วน พันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ห้ามทำการประมงช่วงวัยอ่อน เช่น ปลาทู ปลาลัง ปลากุเลา ปลาอินทรี ปลาจาละเม็ด ปลาสาก ปลาหลังเขียว และปูม้า เป็นต้น
2. ขอให้รัฐบาลออกระเบียบควบคุมการใช้เครื่องมืออวนล้อมจับ, ลดจำนวนของเรือปั่นไฟจับสัตว์น้ำที่ใช้อวนตาถี่ และกำหนดให้เรืออวนลากคู่ทำการประมงในระยะห่างจากชายฝั่งทะเล 15 ไมล์
3. ขอให้เปลี่ยนการกำหนดโควต้าการจับสัตว์น้ำ จากจำนวนวัน (240 วัน) เป็น ปริมาณน้ำหนักที่แท้จริง เพราะการให้โควต้าเป็นจำนวนวันดังกล่าว เป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืน-ไม่เป็นธรรมกับชาวประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะในจำนวน 240 วัน เรือประมงขนาดใหญ่ใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถจับสัตว์น้ำได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ (ความไม่เป็นธรรม คือล่าสุด ปี 2562 กลุ่มประมงพาณิชย์จับสัตว์น้ำไปถึง 1.4 ล้านตัน แต่ชาวประมงพื้นบ้านจับได้แค่ 1.6 แสนตัน)
4. ขอให้สั่งการกรมประมงเปิดเผยข้อมูลสถิติการประมงไทยในรายละเอียด ปริมาณการจับสัตว์น้ำทะเลไทย จากข้อมูล Log Book เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมเสนอแนะต่อแผนการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำทะเลไทยอย่างเป็นระบบ และโปร่งใส
5. ขอให้ออกนโยบายห้ามส่งออกผลผลิตปลาป่นจากการประมงไปนอกประเทศ เนื่องจากปลาป่นสำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์ที่ผลิตในประเทศไทยนั้น มีปริมาณร้อยละ 18 ของปลาป่นทั้งหมด มีธุรกิจในประเทศยังส่งออกปลาป่นจากการประมง ซึ่งหมายถึง ปล่อยให้เกิดการนำลูกปลาเศรษฐกิจวัยอ่อน ในทะเลเป็นสินค้า ที่ทำลายประโยชน์ของประชาชน
6. ขอให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 บางส่วน โดยเพิ่ม หมวดว่าด้วย “การประมงพื้นบ้าน” นำข้อกำหนดเกี่ยวกับการประมงพื้นบ้านอยู่ในหมวดนี้ เพื่อเป็นหลักประกันการจัดการที่แตกต่างกับการประมงพาณิชย์ และให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประมงส่วนที่กระทบกับวิถีชีวิตการประมงขนาดเล็ก ดังนี้
a. นิยามการประมงพื้นบ้านในมาตรา ๕ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยแก้จากเดิม ที่นิยาม “ประมงพื้นบ้าน” ว่าหมายถึง “การทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง...” เป็น “...การทำการประมงทะเล...” เนื่องจากการประมงพื้นบ้านทำการประมงนอกเขตชายฝั่งด้วยเป็นปกติ หากกำหนดให้ทำเขตชายฝั่งอย่างเดียวจะเป็นการทำลายทรัพยากรมากขึ้น
b. แก้ไขมาตรา 26 ว่าด้วยองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ที่มีความเกี่ยวโยงกับบทบัญญัติ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 โดยควรกำหนดกลไกการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดที่ชัดเจน, ตัดองค์ประกอบ กรรมการโดยตำแหน่ง “นายอำเภอ” ออก เนื่องจากมีผู้ว่าราชการจังหวัด อยู่แล้ว และกำหนดให้มีการประชุมอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง, กำหนดเขตอำนาจของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดครอบคลุมอย่างน้อย 12 ไมล์ทะเล และกำหนดแผนงานที่ชัดเจนในการสนับสนุนผลักดันให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด จัดทำแผนแม่บท การจัดการประมงระดับจังหวัด
c. ยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 34 ที่ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง
7. รัฐควรออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านให้ชาวประมงขนาดเล็ก เนื่องจากตั้งแต่มีกฎหมายฉบับใหม่ ชาวประมงพื้นบ้านเรือต่ำกว่า 10 ตันกรอส ยังไม่เคยได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านเลย และหากออกใบอนุญาตก็จะต้องห้ามทำการประมงนอกเขตชายฝั่ง รวมทั้งควรแยกระบบและวิธีการออกใบอนุญาตแตกต่างจากการประมงพาณิชย์
8. เร่งจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน โดยใช้ระบบการจดทะเบียนเรือประมงสำหรับชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กเป็นการเฉพาะ แยกออกจากระบบที่ดำเนินการกับเรือประมงพาณิชย์ โดยจัดให้มีระเบียบข้อกำหนดการจดทะเบียนเรือและขออนุญาตสำหรับเรือประมงพื้นบ้าน เนื่องจากวัตถุประสงค์การใช้เรือ ลักษณะของเรือ การใช้งานเครื่องยนต์ และเครื่องมือประมงที่แตกต่างจากเรือประมงพาณิชย์ ( ความไม่เป็นธรรม คือ ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์สามารถจดทะเบียนได้ไม่จำกัดจำนวน แต่ ผู้ประกอบการรายย่อย ถูกจำกัดให้จดทะเบียนเรือประมงขนาดเล็กได้ครอบครัวละ 1 ลำ)
9. ให้จัดตั้งกองทุนประมงพื้นบ้าน และ/หรือ สนับสนุนงบประมาณ การพัฒนาการประมงพื้นบ้านแบบครบวงจร โดยสนับสนุนกองทุนประมงพื้นบ้านลงถึงแต่ละจังหวัด โดยเน้นส่งเสริมตามระดับกิจกรรม ทั้งในด้านต้นทุนการประมง การอนุรักษ์ทรัพยากร, ช่วยเหลือยามเกิดภัยพิบัติและกรณีเครื่องมือเสียหายหรือเครื่องมือหายโดยไม่ทราบสาเหตุ, ส่งเสริมนวัตกรรมด้านการตลาด หรือโปรโมทมาตรฐานสัตว์น้ำคุณภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้า (ความไม่เป็นธรรม คือ รัฐบาลเตรียมใช้งบประมาณแผ่นดินรับซื้อเรือประมงพาณิชย์ หมื่นล้านบาท แต่ มีงบอุดหนุนชุมชนประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ ปีละ 16 ล้าน)
10. ขอให้รัฐบาลอนุญาตให้ทำการประมงพื้นบ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล ได้ เนื่องจาก ปัจจุบันทุกพื้นที่ทะเลที่ถูกกำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ (ฝั่งอันดามันตลอดแนว) เป็นที่ทำการประมงของชาวประมงพื้นบ้านโดยปกติ แต่ข้อกำหนดอุทยานแห่งชาติ ห้ามเก็บหาประโยชน์ทุกชนิด แม้มีกฎหมายอุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ กรมอุทยานก็ยังไม่มีการดำเนินการยกเว้นให้
11. ขอให้รัฐบาลทบทวน แหล่งทำการเพาะเลี้ยงในทะเลใหม่ทั้งระบบ โดยการเพาะเลี้ยงชายฝั่งในหลายพื้นที่เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวประมง แต่มีปัญหาทางด้านกระบวนการ ทำให้ชุมชนเข้าไม่ถึงการอนุญาตตามกฎหมาย พื้นที่เพาะเลี้ยงทางทะเลตกในมือของนายทุน ไม่มีการวางแผนการจัดการพื้นที่ และควรกำหนดพื้นที่เพาะเลี้ยงอย่างมีขอบเขตที่ชัดเจนสำหรับประชาชนในชุมชนอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงสภาพพื้นที่ที่เหมาะสม
12. ขอให้รัฐบาลสนับสนุน ผลผลิตสัตว์น้ำคุณภาพ และระบบรับรองมาตรฐานสัตว์น้ำหลังการจับของชาวประมงพื้นบ้าน โดยควรมีหลักการ 4 ประการ คือ ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบทางสังคม เช่น เข้าร่วมหรือสนับสนุนกิจกรรมในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง , ไม่ละเมิดหลักการขั้นพื้นฐานว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และแสดงให้เห็นถึงระบบการจัดการที่มีความเป็นธรรมและชัดเจน, ใช้วิธีการและเครื่องมือที่คำนึงถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศ และทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ไม่ใช้วิธีการและเครื่องมือทำประมงแบบทำลายล้างไม่ผิดกฎหมายหรือละเมิดกติกาชุมชน และ สัตว์น้ำผลผลิตมีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภคไม่มีการใช้สารเคมีอันตรายทุกชนิด สัตว์น้ำสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำได้
13. ขอให้รัฐบาลจัดตั้ง “โรงเรียนชาวประมงยั่งยืน” เพื่อตอบสนองการประมงสมัยใหม่ นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผสมผสานให้สอดคล้องและสามารถอธิบาย ภูมิปัญญา หลักความเชื่อชุมชน ได้อย่างมีเหตุผล ถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญา อย่างมีหลักวิชาการ มีสถาบันรองรับ สามารถเป็นวิชาชีพหรือหลักสูตรหนึ่งในสังคมไทย โดยให้ผู้นำชาวประมงตัวอย่างเป็นผู้มีส่วนร่วมควบคุมบริหารจัดการ ให้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่เผยแพร่ความรู้การทำประมงพื้นบ้าน หรือประมงพาณิชย์ที่รับผิดชอบ หลักสูตร อาจประกอบด้วย หลักการทำประมงรับผิดชอบ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ กระแสน้ำ กระแสลม ทักษะการจับปลา ฤดูกาลในการทำประมง การต่อเรือประมง ความปลอดภัยกฎหมายและนโยบายการประมง เป็นต้น และมีการรับรองเมื่อจบหลักสูตร
14. รัฐบาลต้องยืนยันการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน และรับผิดชอบต่อไป ไม่ควรผ่อนผันเกี่ยวกับการตรวจสอบแหล่งที่มาของผลผลิต เพราะจะเป็นช่องว่างทำให้ปัญหาการประมงแบบทำลายล้างไม่สามารถการควบคุม เกิดเรือประมงสวมทะเบียน, ละเมิดสิทธิแรงงาน และการค้ามนุษย์ กลับมาอีกในประเทศไทย..
August 29, 2020 at 12:13PM
https://ift.tt/2QAdljk
ชาวประมงพื้นบ้าน จ่อยกพลขึ้นกรุงเทพฯ ติดตาม 14 ข้อเสนอเพื่อการประมงยั่งยืน - ไทยโพสต์
https://ift.tt/2Y3VpRs
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ชาวประมงพื้นบ้าน จ่อยกพลขึ้นกรุงเทพฯ ติดตาม 14 ข้อเสนอเพื่อการประมงยั่งยืน - ไทยโพสต์"
Post a Comment