กรมประมง เปิดโต๊ะเจรจาประมงพื้นบ้าน เคลียร์ปม 14 ข้อเรียกร้อง บทสรุปทุกฝ่ายเห็นพ้อง ร่วมขับเคลื่อนทุกมิติบนพื้นฐานความยั่งยืนของทรัพยากร
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. จากกรณีที่สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาชาวประมงพื้นบ้าน ทรัพยากรประมง และทะเลชายฝั่ง ใน 14 ประเด็น เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563 ที่ผ่านมานั้น
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ได้เปิดโต๊ะจัดประชุมเพื่อชี้แจงการดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ทั้ง 14 ข้อ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมเจ้าท่า และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมให้ข้อคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการประชุมปรากฏว่า ได้ข้อยุติเป็นที่พอใจของชาวประมงพื้นบ้าน ขอสรุปภาพรวม ดังนี้
1.ข้อเรียกร้องซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ การแก้กฎหมายตามข้อเสนอของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานในภาคประมง ซึ่งกำลังพิจารณาข้อกฎหมายที่สมาพันธ์ฯ ขอแก้ไข 3 มาตรา และจะเสนอตามขั้นตอนของการแก้ไขกฎหมายระดับพระราชบัญญัติต่อไป ส่วนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการออกมาตรการในการกำหนดขนาดของสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ควรจับ การนำระบบโควตาในการจับสัตว์น้ำบางชนิดแทนการกำหนดจำนวนวันทำการประมงต่อรอบปีการประมง การกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับเครื่องมือประสิทธิภาพสูงบางชนิด ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ในการนำมาใช้บังคับ โดยทุกประเด็นได้มีคณะทำงานจากหลายภาคส่วนทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา ผู้แทนประมงพื้นบ้าน ผู้แทนจากองค์กรภาคเอกชน เมื่อได้ข้อสรุปจะได้นำไปรับความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเสนอระดับนโยบายและคณะกรรมการชุดต่างๆ เพื่อออกมาตรการ และนำมาใช้ต่อไป
2.ประเด็นข้อเสนอใหม่ ซึ่งภาครัฐรับข้อเสนอไปดำเนินการ ได้แก่
2.1 การขอทราบสถิติการทำการประมงนั้น กรมประมงไม่ได้ขัดข้องและได้ส่งข้อมูลจากการบันทึกการทำการประมง ตั้งแต่ปี 2559–2562 ให้แก่สมาคมสมาพันธ์ฯ ตามที่ร้องขอแล้วหลังเสร็จสิ้นการประชุม
2.2 การออกใบรับรองมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน และการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้านตามมาตรฐานที่กำหนด โดยกรมประมงจะเร่งรัดการประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวภายใน 15 กันยายน 2563 นี้
2.3 การขอให้กรมประมงพิจารณาออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านนั้น กรมประมงรับข้อเสนอและจะเร่งรัดการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ตามมาตรา 32 แห่งพ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 โดยกรมประมงจะหารือร่วมกับสมาคมสมาพันธ์ฯ และผู้แทนสมาคมประมงพื้นบ้าน ใน 23 จังหวัดชายทะเล เพื่อพิจารณาชนิดและขนาดของเครื่องมือทำการประมงพื้นบ้านที่ต้องขออนุญาตภายหลังจากที่กรมเจ้าท่าดำเนินการจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้
2.4 การขอทำการประมงในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ โดยผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้รับข้อเสนอและจะเชิญผู้แทนสมาคมสมาพันธ์ฯ ร่วมพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง
2.5 การจัดตั้งโรงเรียนชาวประมง ประเด็นนี้กระทรวงแรงงานรับไปศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมใน 23 จังหวัดชายทะเล ร่วมกับกรมประมง กรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
"ขณะนี้ได้สั่งการให้ประมงจังหวัด ประมงอำเภอ รวมถึงเจ้าหน้าที่ในสังกัด เร่งชี้แจงทำความเข้าใจในสิ่งที่ภาครัฐได้ดำเนินการและการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้ชาวประมงในแต่ละพื้นที่ได้รับทราบรายละเอียดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการสร้างการรับรู้ผลการดำเนินการของรัฐ ตามประเด็นข้อเรียกร้องดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น นอกจากนี้ ในวันที่ 8 กันยายน 2563 กรมประมงยังได้เชิญทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและสมาคมประมงทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล ซึ่งได้มีการยื่นข้อเรียกร้องมาก่อนหน้านี้ มาหารือถึงแนวทางออกของการแก้ไขปัญหาประมงร่วมกันอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการและบริบทของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนความร่วมมือของทุกภาคส่วน กรมประมงจะขับเคลื่อนภารกิจนี้ ภายใต้แนวนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของอาชีพประมงต่อไป"อธิบดีกรมประมง กล่าว
September 07, 2020 at 11:10AM
https://ift.tt/3lSUajj
เปิดโต๊ะเจรจาประมงพื้นบ้าน เคลียร์ปม 14 ข้อเรียกร้อง จับมือแก้ปัญหาทุกมิติอย่างยั่งยื่น - สยามรัฐ
https://ift.tt/2Y3VpRs
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เปิดโต๊ะเจรจาประมงพื้นบ้าน เคลียร์ปม 14 ข้อเรียกร้อง จับมือแก้ปัญหาทุกมิติอย่างยั่งยื่น - สยามรัฐ"
Post a Comment